คณะกรรมการอำนวยการ
คณะทำงานบริการและจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ
คณะทำงานสารสนเทศ
ท้องถิ่น
คณะทำงานเทคโนโลยีสารสนเทศ
ความเป็นมา
หลักการและเหตุผล
ภาคีอุดมศึกษานครราชสีมา (ภอ.นม.) หรือเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาจังหวัดนครราชสีมาเป็นโครงการต้นแบบเพื่อหาแนวทางในการใช้ทรัพยากรทุก ๆ ด้านร่วมกัน ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจที่เกื้อหนุนต่อความเจริญและความเข้มแข็งของชุมชนในระดับพื้นฐาน
ภาคีอุดมศึกษาจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ภายในจังหวัดนครราชสีมาจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออก เฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สถาบันอุดมศึกษาทั้ง 5 แห่งดังกล่าวเป็นแหล่งรวมความรู้และทรัพยากรสารสนเทศที่สำคัญของจังหวัด โดยมีสถาบันบริการสารสนเทศ ได้แก่ ห้องสมุด ศูนย์วัฒนธรรม และศูนย์สารสนเทศ เป็นต้น ทำหน้าที่ในการผลิต จัดหา จัดเก็บ เผยแพร่และให้บริการทรัพยากรสารสนเทศในสาขาวิชาที่มีการจัดการเรียนการสอนและที่เกี่ยวกับจังหวัดนครราชสีมา การจัดตั้งเครือข่ายสารสนเทศนครราชสีมา (NakornRatchasima Information Network – NARINET) จะช่วยให้สถาบันบริการสารสนเทศเหล่านั้นร่วมมือกันกำหนดแนวทางและพัฒนาการดำเนินงานอันจะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรสารสนเทศ ร่วมกันอย่างคุ้มค่าในที่สุด
การดำเนินโครงการเครือข่ายสารสนเทศนครราชสีมา (NakornRatchasima Information Network – NARINET) ในระยะ 5 ปีแรก (พ.ศ. 2547-2552) ประกอบด้วยการดำเนินโครงการย่อย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ แบ่งปันทรัพยากรสารสนเทศ โครงการสหบรรณานุกรมสารสนเทศนครราชสีมา และโครงการฐานข้อมูลข้อความเต็ม ภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราช ซึ่งแต่ละโครงการมีแนวคิดดังนี้
ปัจจุบันทรัพยากรสารสนเทศได้รับการผลิตขึ้นจำนวนมหาศาลในรูปแบบที่แตกต่างกัน ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สถาบันบริการสารสนเทศแต่ละแห่งพยายามจัดหาทรัพยากรสารสนเทศให้ครอบคลุมและตรงกับความต้องการของผู้ใช้ แต่โดยข้อเท็จจริงคือ ไม่มีสถาบันบริการสารสนเทศแห่งใดที่สามารถจัดหาทรัพยากรสารสนเทศได้ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้อย่างครบถ้วน การดำเนินโครงการแบ่งปันทรัพยากรสารสนเทศของภาคีอุดมศึกษานครราชสีมาจะช่วยให้เกิดการประหยัดงบประมาณในการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศโดยลดการซื้อที่ ซ้ำซ้อนกันได้ นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถขยายขอบเขตการเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศไปยังสถาบันสมาชิกภาคี ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยจัดให้มีกิจกรรมการยืมระหว่างห้องสมุด (Interlibrary Loan) หรือการจัดหาทรัพยากร สารสนเทศร่วมกันในรูปภาคี (Consortium)
จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองเก่าแก่ที่รุ่งเรืองมาแต่ครั้งอดีต มีการสะสมอารยธรรมมาหลายยุคหลายสมัยและมีพัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบันอย่างเป็นระบบ สารสนเทศนครราชสีมาจึงเป็นสารสนเทศที่ทรงคุณค่าทั้งทางด้าน ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และอื่นๆ ปัจจุบันสถาบันบริการสารสนเทศของสถาบันสมาชิกภาคีอุดมศึกษานครราชสีมาได้จัดเก็บและให้บริการสารสนเทศนครราชสีมาจำนวนหนึ่งในลักษณะต่างคนต่างทำ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการเข้าถึงของผู้ใช้ กล่าวคือผู้ใช้ต้องใช้เวลามากในการเข้าถึงสารสนเทศที่ต้องการจากสถาบันบริการสารสนเทศแต่ละแห่ง การดำเนินโครงการสหบรรณานุกรมสารสนเทศนครราชสีมาเป็นการจัดทำรายการบรรณานุกรมทรัพยากรสารสนเทศที่เกี่ยวกับนครราชสีมาให้อยู่ในรูปแบบดิจิตอลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถค้นคืนผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สหบรรณานุกรมสารสนเทศนครราชสีมาจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ค้นคว้าสามารถเข้าถึงสารสนเทศนครราชสีมาจากแหล่งเดียวได้ครอบคลุมทุกด้านโดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่
ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นความสามารถในการใช้ความรู้จากประสบการณ์สร้างสรรค์งาน เพื่อการพัฒนาและ การดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ในแต่ละพื้นที่ต่างมีบุคคลในท้องถิ่นที่ได้สั่งสมความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ในการทำงานที่ตนมีความถนัด เชี่ยวชาญ ตามแขนงสาขาวิชาต่างๆ กัน อาทิ เกษตรกรรม คหกรรม ศิลปกรรม สาธารณสุข ภาษาและวรรณกรรม และสาขาวิชาอื่นๆ ความรู้ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ใช้เวลาสั่งสมมานาน มีโครงสร้างความรู้บนหลักการที่มีเหตุมีผลในตัวเองซึ่งช่วยให้การดำรงชีวิตดำเนินไปในแบบแผนที่เหมาะสมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ความรู้เหล่านี้จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอด ในอดีตการเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากผู้ที่รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากผู้รู้ในท้องถิ่น ส่วนมากมักเป็นคนในครอบครัวเดียวกันที่มีความหวงแหนความรู้และไม่ต้องการแพร่งพรายให้คนอื่นๆ รู้เพราะกลัวการแก่งแย่งอาชีพในการทำมาหากิน กลัวเรื่องชื่อเสียง เกียรติภูมิ กลัวการขโมยภูมิปัญญาหรือมีความเชื่อจากบรรพบุรุษที่ต้องการให้ปกปิดเคล็ดลับหรือกลวิธีต่างๆ เหล่านั้น ประกอบกับในอดีตสื่อและเทคโนโลยีการสื่อสารยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ขยายวงกว้างไปสู่สาธารณชนทั่วไปมากขึ้น เนื่องจากได้รับการกระตุ้นและสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างกว้างขวาง และหลากหลายรูปแบบ นครราชสีมาเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีมรดกทางภูมิปัญญาอันเป็นสมบัติล้ำค่าที่มีการถ่ายทอดกันมาตั้งแต่อดีต โดยการบอกเล่าหรือการบันทึกไว้ให้กับบุคคลหรือแหล่งต่างๆ นับวันภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้จะเลือนหายไปกับกาลเวลาหากไม่ได้รับการจัดการหรือมีระบบการดำเนินการที่ดี โครงการฐานข้อมูลข้อความเต็มภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราชมี วัตถุประสงค์เพื่อรวบรวม จัดระบบ และเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราชให้อยู่ในรูปข้อความเต็ม (Full text) และมัลติมีเดีย (Multimedia) เพื่อเป็นแหล่งสารสนเทศภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราชที่สมบูรณ์และเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราชให้คงอยู่ตลอดไป
- โครงการแบ่งปันทรัพยากรสารสนเทศ
- โครงการสหบรรณานุกรมสารสนเทศนครราชสีมา
- โครงการฐานข้อมูลข้อความเต็มภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราช
วัตถุประสงค์
- เพื่อส่งเสริมการจัดการระบบสารสนเทศของสถาบันบริการสารสนเทศของสถาบันสมาชิกภาคีอุดมศึกษานครราชสีมา(ภอ.นม.) ให้มีมาตรฐานเดียวกัน
- เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรสารสนเทศร่วมกันอย่างคุ้มค่า
- เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิชาการสาขาต่างๆ และโคราชศึกษาที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา
กิจกรรม
- โครงการแบ่งปันทรัพยากรสารสนเทศ
- ยืมระหว่างห้องสมุด
- ให้สิทธิพิเศษในการยืม (NARINET Card)
- จัดหาวารสารทางวิชาการร่วมกัน
- จัดหาฐานข้อมูลออนไลน์ร่วมกัน
- จัดทำเอกสารเผยแพร่กิจกรรมของเครือข่าย
- โครงการสหบรรณานุกรมสารสนเทศนครราชสีมา
- จัดทำฐานข้อมูลสหบรรณานุกรมสารสนเทศนครราชสีมา
- จัดทำคู่มือการดำเนินงานสหบรรณานุกรม
- ให้บริการสารสนเทศนครราชสีมาผ่านทางเว็บไซต์
- โครงการฐานข้อมูลข้อความเต็มภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราช
- จัดทำฐานข้อมูลข้อความเต็มภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราช
- จัดทำสื่อประสมภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราช
- จัดทำคู่มือการดำเนินงานฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราช
- ให้บริการสารสนเทศภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราชผ่านทางเว็บไซต์
โครงสร้างและการบริหาร
ระบบบริหาร โครงสร้างการบริหารเครือข่ายสารสนเทศนครราชสีมา ประกอบด้วย คณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงาน 3 คณะคือ คณะทำงานบริการและจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ คณะทำงานสารสนเทศท้องถิ่น และคณะทำงานเทคโนโลยีสารสนเทศ องค์ประกอบและหน้าที่ของ คณะกรรมการและคณะทำงานมีดังนี้
กรรมการอำนวยการ 1 ท่านทำหน้าที่ประธานโดยได้มาจากการเลือกตั้งของคณะกรรมการอำนวยการทั้งหมด และกรรมการอำนวยการอีก 1 ท่าน ทำหน้าที่เลขานุการซึ่งได้มาจากการแต่งตั้งของประธาน
คณะกรรมการอำนวยการทำหน้าที่ดังนี้
- คณะกรรมการที่ปรึกษา ประกอบด้วย อธิการบดีของสถาบันสมาชิกภาคีอุดมศึกษานครราชสีมา (ภอ.นม.) ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเสนอแนะแนวทางในการดำเนินงานของเครือข่ายฯ และจัดหางบประมาณสนับสนุน
- คณะกรรมการอำนวยการ ประกอบด้วย
- รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการศึกษา ห้องสมุด วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนีนครราชสีมา
- ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฎนครราชสีมา
- ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฎนครราชสีมา
- ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฎนครราชสีมา
- ผู้อำนวยการสำนักบรรณสารและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
- ผู้อำนวยการศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- กำหนดนโยบายการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ของเครือข่ายฯ
- วางแผนการใช้และอนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่าย
- แต่งตั้งคณะทำงาน
- อำนวยการ กำกับดูแล และประสานงานเพื่อให้การดำเนินงานของเครือข่ายเป็นไปโดย ราบรื่นและสอดคล้องวัตถุประสงค์ของเครือข่าย
- คณะทำงานบริการและจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานบริการและ งานจัดหาทรัพยากรสารสนเทศของสถาบันบริการสารสนเทศแต่ละสถาบันหรือบุคคลอื่นตามความเหมาะสม ทำหน้าที่ดังนี้
- ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรสารสนเทศร่วมกันในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- กำหนดระเบียบวิธีการใช้ทรัพยากรสารสนเทศแต่ละประเภทร่วมกัน
- กำหนดวิธีบริการยืมระหว่างห้องสมุดและพัฒนาระบบการยืมระหว่างห้องสมุด
- ให้บริการใช้ทรัพยากรสารสนเทศร่วมกัน
- กำหนดรูปแบบและวิธีการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศร่วมกัน
- ศึกษาการใช้ทรัพยากรสารสนเทศของผู้ใช้เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาบริการ
- ประเมินผลการปฏิบัติงาน
- คณะทำงานสารสนเทศท้องถิ่น ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานสารสนเทศท้องถิ่นของแต่ละสถาบันหรือบุคคลอื่นตามความเหมาะสม ทำหน้าที่ดังนี้
- จัดหาสารสนเทศนครราชสีมาที่จัดเก็บในสื่อรูปแบบต่างๆให้สมบูรณ์
- จัดสร้างฐานข้อมูลสารสนเทศนครราชสีมาให้สมบูรณ์และทันสมัยโดยร่วมกับคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง
- กำหนดมาตรฐานในการลงรายการบรรณานุกรม กำหนดหลักการลงรายการบรรณานุกรม
- เผยแพร่ฐานข้อมูลสารสนเทศนครราชสีมาให้มีการใช้อย่างกว้างขวาง
- ศึกษาการใช้ทรัพยากรสารสนเทศของผู้ใช้เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาบริการ
- ประเมินผลการปฏิบัติงาน
- คณะทำงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานเทคโนโลยีสารสนเทศของสถาบันบริการสารสนเทศของแต่ละสถาบันหรือบุคคลอื่นตามความเหมาะสม ทำหน้าที่ดังนี้
- ประสานงานกับคณะทำงานสารสนเทศท้องถิ่นและคณะทำงานบริการและจัดหาทรัพยากรสารสนเทศในการนำ เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมของทั้งสองคณะทำงาน
- กำหนดคุณลักษณะของเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และโปรแกรมที่จะใช้ในการดำเนินกิจกรรมของ คณะทำงาน
- ร่วมมือกับคณะทำงานในการในการพัฒนาฐานข้อมูล
- ประเมินผลการปฏิบัติงาน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
- ด้านการปฏิบัติงานของสถาบันบริการสารสนเทศสมาชิกเครือข่ายฯ
- เกิดการใช้ทรัพยากรสารสนเทศอย่างคุ้มค่า
- ประหยัดงบประมาณในการจัดหา จัดเก็บ และพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ
- สถาบันบริการสารสนเทศของภาคีอุดมศึกษานครราชสีมาได้รับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน
- จังหวัดนครราชสีมามีแหล่งการเรียนรู้ทางวิชาการและโคราชศึกษาที่สมบูรณ์
- ด้านผู้ใช้บริการ
- สามารถขยายขอบเขตการเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศที่ต้องการได้โดยเข้าถึงสารสนเทศที่อยู่ต่างสถาบัน
- ได้รับสารสนเทศที่รวดเร็วและทันกับความต้องการ
- สามารถเข้าถึงสารสนเทศที่ต้องการได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่โดยสามารถสั่งพิมพ์หรือดาวน์โหลดข้อมูลที่ต้องการได้ทันที เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง
- สามารถเข้าถึงข้อมูลได้พร้อมๆ กันหลายคน ในเวลาเดียวกัน
- ด้านผู้ปฏิบัติงาน
- การฝึกอบรม ประชุม สัมมนา ทำให้ผู้ปฏิบัติงานในข่ายงายฯ ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนางานที่รับผิดชอบ
- การปรึกษา แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างกัน จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานของสถาบันบริการสารสนเทศแต่ละแห่ง
- ความใกล้ชิด สนิทสนม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันระหว่างผู้ปฏิบัติงาน ส่งผลให้เกิดการบริการที่ดี และรวดเร็วยิ่งขึ้น
- การมีมาตรฐานในการปฏิบัติงานร่วมกัน จะทำให้สามารถลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานด้านการลงรายการได้