คณะทำงานบริการและจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ

ความเป็นมา

หลักการและเหตุผล

ภาคีอุดมศึกษานครราชสีมา (ภอ.นม.) หรือเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาจังหวัดนครราชสีมาเป็นโครงการต้นแบบเพื่อหาแนวทางในการใช้ทรัพยากรทุก ๆ ด้านร่วมกัน ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจที่เกื้อหนุนต่อความเจริญและความเข้มแข็งของชุมชนในระดับพื้นฐาน

ภาคีอุดมศึกษาจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ภายในจังหวัดนครราชสีมาจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออก เฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สถาบันอุดมศึกษาทั้ง 5 แห่งดังกล่าวเป็นแหล่งรวมความรู้และทรัพยากรสารสนเทศที่สำคัญของจังหวัด โดยมีสถาบันบริการสารสนเทศ ได้แก่ ห้องสมุด ศูนย์วัฒนธรรม และศูนย์สารสนเทศ เป็นต้น ทำหน้าที่ในการผลิต จัดหา จัดเก็บ เผยแพร่และให้บริการทรัพยากรสารสนเทศในสาขาวิชาที่มีการจัดการเรียนการสอนและที่เกี่ยวกับจังหวัดนครราชสีมา การจัดตั้งเครือข่ายสารสนเทศนครราชสีมา (NakornRatchasima Information Network – NARINET) จะช่วยให้สถาบันบริการสารสนเทศเหล่านั้นร่วมมือกันกำหนดแนวทางและพัฒนาการดำเนินงานอันจะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรสารสนเทศ ร่วมกันอย่างคุ้มค่าในที่สุด

การดำเนินโครงการเครือข่ายสารสนเทศนครราชสีมา (NakornRatchasima Information Network – NARINET) ในระยะ 5 ปีแรก (พ.ศ. 2547-2552) ประกอบด้วยการดำเนินโครงการย่อย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ แบ่งปันทรัพยากรสารสนเทศ โครงการสหบรรณานุกรมสารสนเทศนครราชสีมา และโครงการฐานข้อมูลข้อความเต็ม ภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราช ซึ่งแต่ละโครงการมีแนวคิดดังนี้

ปัจจุบันทรัพยากรสารสนเทศได้รับการผลิตขึ้นจำนวนมหาศาลในรูปแบบที่แตกต่างกัน ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สถาบันบริการสารสนเทศแต่ละแห่งพยายามจัดหาทรัพยากรสารสนเทศให้ครอบคลุมและตรงกับความต้องการของผู้ใช้ แต่โดยข้อเท็จจริงคือ ไม่มีสถาบันบริการสารสนเทศแห่งใดที่สามารถจัดหาทรัพยากรสารสนเทศได้ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้อย่างครบถ้วน การดำเนินโครงการแบ่งปันทรัพยากรสารสนเทศของภาคีอุดมศึกษานครราชสีมาจะช่วยให้เกิดการประหยัดงบประมาณในการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศโดยลดการซื้อที่ ซ้ำซ้อนกันได้ นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถขยายขอบเขตการเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศไปยังสถาบันสมาชิกภาคี ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยจัดให้มีกิจกรรมการยืมระหว่างห้องสมุด (Interlibrary Loan) หรือการจัดหาทรัพยากร สารสนเทศร่วมกันในรูปภาคี (Consortium)

จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองเก่าแก่ที่รุ่งเรืองมาแต่ครั้งอดีต มีการสะสมอารยธรรมมาหลายยุคหลายสมัยและมีพัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบันอย่างเป็นระบบ สารสนเทศนครราชสีมาจึงเป็นสารสนเทศที่ทรงคุณค่าทั้งทางด้าน ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และอื่นๆ ปัจจุบันสถาบันบริการสารสนเทศของสถาบันสมาชิกภาคีอุดมศึกษานครราชสีมาได้จัดเก็บและให้บริการสารสนเทศนครราชสีมาจำนวนหนึ่งในลักษณะต่างคนต่างทำ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการเข้าถึงของผู้ใช้ กล่าวคือผู้ใช้ต้องใช้เวลามากในการเข้าถึงสารสนเทศที่ต้องการจากสถาบันบริการสารสนเทศแต่ละแห่ง การดำเนินโครงการสหบรรณานุกรมสารสนเทศนครราชสีมาเป็นการจัดทำรายการบรรณานุกรมทรัพยากรสารสนเทศที่เกี่ยวกับนครราชสีมาให้อยู่ในรูปแบบดิจิตอลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถค้นคืนผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สหบรรณานุกรมสารสนเทศนครราชสีมาจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ค้นคว้าสามารถเข้าถึงสารสนเทศนครราชสีมาจากแหล่งเดียวได้ครอบคลุมทุกด้านโดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่

ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นความสามารถในการใช้ความรู้จากประสบการณ์สร้างสรรค์งาน เพื่อการพัฒนาและ การดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ในแต่ละพื้นที่ต่างมีบุคคลในท้องถิ่นที่ได้สั่งสมความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ในการทำงานที่ตนมีความถนัด เชี่ยวชาญ ตามแขนงสาขาวิชาต่างๆ กัน อาทิ เกษตรกรรม คหกรรม ศิลปกรรม สาธารณสุข ภาษาและวรรณกรรม และสาขาวิชาอื่นๆ ความรู้ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ใช้เวลาสั่งสมมานาน มีโครงสร้างความรู้บนหลักการที่มีเหตุมีผลในตัวเองซึ่งช่วยให้การดำรงชีวิตดำเนินไปในแบบแผนที่เหมาะสมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ความรู้เหล่านี้จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอด ในอดีตการเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากผู้ที่รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากผู้รู้ในท้องถิ่น ส่วนมากมักเป็นคนในครอบครัวเดียวกันที่มีความหวงแหนความรู้และไม่ต้องการแพร่งพรายให้คนอื่นๆ รู้เพราะกลัวการแก่งแย่งอาชีพในการทำมาหากิน กลัวเรื่องชื่อเสียง เกียรติภูมิ กลัวการขโมยภูมิปัญญาหรือมีความเชื่อจากบรรพบุรุษที่ต้องการให้ปกปิดเคล็ดลับหรือกลวิธีต่างๆ เหล่านั้น ประกอบกับในอดีตสื่อและเทคโนโลยีการสื่อสารยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ขยายวงกว้างไปสู่สาธารณชนทั่วไปมากขึ้น เนื่องจากได้รับการกระตุ้นและสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างกว้างขวาง และหลากหลายรูปแบบ นครราชสีมาเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีมรดกทางภูมิปัญญาอันเป็นสมบัติล้ำค่าที่มีการถ่ายทอดกันมาตั้งแต่อดีต โดยการบอกเล่าหรือการบันทึกไว้ให้กับบุคคลหรือแหล่งต่างๆ นับวันภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้จะเลือนหายไปกับกาลเวลาหากไม่ได้รับการจัดการหรือมีระบบการดำเนินการที่ดี โครงการฐานข้อมูลข้อความเต็มภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราชมี วัตถุประสงค์เพื่อรวบรวม จัดระบบ และเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราชให้อยู่ในรูปข้อความเต็ม (Full text) และมัลติมีเดีย (Multimedia) เพื่อเป็นแหล่งสารสนเทศภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราชที่สมบูรณ์และเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราชให้คงอยู่ตลอดไป

  1. โครงการแบ่งปันทรัพยากรสารสนเทศ
  2. โครงการสหบรรณานุกรมสารสนเทศนครราชสีมา
  3. โครงการฐานข้อมูลข้อความเต็มภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราช

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อส่งเสริมการจัดการระบบสารสนเทศของสถาบันบริการสารสนเทศของสถาบันสมาชิกภาคีอุดมศึกษานครราชสีมา(ภอ.นม.) ให้มีมาตรฐานเดียวกัน
  2. เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรสารสนเทศร่วมกันอย่างคุ้มค่า
  3. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิชาการสาขาต่างๆ และโคราชศึกษาที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา

กิจกรรม

  1. โครงการแบ่งปันทรัพยากรสารสนเทศ
    • ยืมระหว่างห้องสมุด
    • ให้สิทธิพิเศษในการยืม (NARINET Card)
    • จัดหาวารสารทางวิชาการร่วมกัน
    • จัดหาฐานข้อมูลออนไลน์ร่วมกัน
    • จัดทำเอกสารเผยแพร่กิจกรรมของเครือข่าย
  2. โครงการสหบรรณานุกรมสารสนเทศนครราชสีมา
    • จัดทำฐานข้อมูลสหบรรณานุกรมสารสนเทศนครราชสีมา
    • จัดทำคู่มือการดำเนินงานสหบรรณานุกรม
    • ให้บริการสารสนเทศนครราชสีมาผ่านทางเว็บไซต์
  3. โครงการฐานข้อมูลข้อความเต็มภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราช
    • จัดทำฐานข้อมูลข้อความเต็มภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราช
    • จัดทำสื่อประสมภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราช
    • จัดทำคู่มือการดำเนินงานฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราช
    • ให้บริการสารสนเทศภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราชผ่านทางเว็บไซต์

โครงสร้างและการบริหาร

ระบบบริหาร โครงสร้างการบริหารเครือข่ายสารสนเทศนครราชสีมา ประกอบด้วย คณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงาน 3 คณะคือ คณะทำงานบริการและจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ คณะทำงานสารสนเทศท้องถิ่น และคณะทำงานเทคโนโลยีสารสนเทศ องค์ประกอบและหน้าที่ของ คณะกรรมการและคณะทำงานมีดังนี้

กรรมการอำนวยการ 1 ท่านทำหน้าที่ประธานโดยได้มาจากการเลือกตั้งของคณะกรรมการอำนวยการทั้งหมด และกรรมการอำนวยการอีก 1 ท่าน ทำหน้าที่เลขานุการซึ่งได้มาจากการแต่งตั้งของประธาน

คณะกรรมการอำนวยการทำหน้าที่ดังนี้

  1. คณะกรรมการที่ปรึกษา ประกอบด้วย อธิการบดีของสถาบันสมาชิกภาคีอุดมศึกษานครราชสีมา (ภอ.นม.) ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเสนอแนะแนวทางในการดำเนินงานของเครือข่ายฯ และจัดหางบประมาณสนับสนุน
  2. คณะกรรมการอำนวยการ ประกอบด้วย
    1. รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการศึกษา ห้องสมุด วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนีนครราชสีมา
    2. ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    3. ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฎนครราชสีมา
    4. ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฎนครราชสีมา
    5. ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฎนครราชสีมา
    6. ผู้อำนวยการสำนักบรรณสารและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
    7. ผู้อำนวยการศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
    1. กำหนดนโยบายการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ของเครือข่ายฯ
    2. วางแผนการใช้และอนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่าย
    3. แต่งตั้งคณะทำงาน
    4. อำนวยการ กำกับดูแล และประสานงานเพื่อให้การดำเนินงานของเครือข่ายเป็นไปโดย ราบรื่นและสอดคล้องวัตถุประสงค์ของเครือข่าย
  3. คณะทำงานบริการและจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานบริการและ งานจัดหาทรัพยากรสารสนเทศของสถาบันบริการสารสนเทศแต่ละสถาบันหรือบุคคลอื่นตามความเหมาะสม ทำหน้าที่ดังนี้
    1. ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรสารสนเทศร่วมกันในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
    2. กำหนดระเบียบวิธีการใช้ทรัพยากรสารสนเทศแต่ละประเภทร่วมกัน
    3. กำหนดวิธีบริการยืมระหว่างห้องสมุดและพัฒนาระบบการยืมระหว่างห้องสมุด
    4. ให้บริการใช้ทรัพยากรสารสนเทศร่วมกัน
    5. กำหนดรูปแบบและวิธีการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศร่วมกัน
    6. ศึกษาการใช้ทรัพยากรสารสนเทศของผู้ใช้เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาบริการ
    7. ประเมินผลการปฏิบัติงาน
  4. คณะทำงานสารสนเทศท้องถิ่น ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานสารสนเทศท้องถิ่นของแต่ละสถาบันหรือบุคคลอื่นตามความเหมาะสม ทำหน้าที่ดังนี้
    1. จัดหาสารสนเทศนครราชสีมาที่จัดเก็บในสื่อรูปแบบต่างๆให้สมบูรณ์
    2. จัดสร้างฐานข้อมูลสารสนเทศนครราชสีมาให้สมบูรณ์และทันสมัยโดยร่วมกับคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง
    3. กำหนดมาตรฐานในการลงรายการบรรณานุกรม กำหนดหลักการลงรายการบรรณานุกรม
    4. เผยแพร่ฐานข้อมูลสารสนเทศนครราชสีมาให้มีการใช้อย่างกว้างขวาง
    5. ศึกษาการใช้ทรัพยากรสารสนเทศของผู้ใช้เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาบริการ
    6. ประเมินผลการปฏิบัติงาน
  5. คณะทำงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานเทคโนโลยีสารสนเทศของสถาบันบริการสารสนเทศของแต่ละสถาบันหรือบุคคลอื่นตามความเหมาะสม ทำหน้าที่ดังนี้
    1. ประสานงานกับคณะทำงานสารสนเทศท้องถิ่นและคณะทำงานบริการและจัดหาทรัพยากรสารสนเทศในการนำ เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมของทั้งสองคณะทำงาน
    2. กำหนดคุณลักษณะของเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และโปรแกรมที่จะใช้ในการดำเนินกิจกรรมของ คณะทำงาน
    3. ร่วมมือกับคณะทำงานในการในการพัฒนาฐานข้อมูล
    4. ประเมินผลการปฏิบัติงาน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ด้านการปฏิบัติงานของสถาบันบริการสารสนเทศสมาชิกเครือข่ายฯ
    • เกิดการใช้ทรัพยากรสารสนเทศอย่างคุ้มค่า
    • ประหยัดงบประมาณในการจัดหา จัดเก็บ และพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ
    • สถาบันบริการสารสนเทศของภาคีอุดมศึกษานครราชสีมาได้รับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน
    • จังหวัดนครราชสีมามีแหล่งการเรียนรู้ทางวิชาการและโคราชศึกษาที่สมบูรณ์
  2. ด้านผู้ใช้บริการ
    • สามารถขยายขอบเขตการเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศที่ต้องการได้โดยเข้าถึงสารสนเทศที่อยู่ต่างสถาบัน
    • ได้รับสารสนเทศที่รวดเร็วและทันกับความต้องการ
    • สามารถเข้าถึงสารสนเทศที่ต้องการได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่โดยสามารถสั่งพิมพ์หรือดาวน์โหลดข้อมูลที่ต้องการได้ทันที เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง
    • สามารถเข้าถึงข้อมูลได้พร้อมๆ กันหลายคน ในเวลาเดียวกัน
  3. ด้านผู้ปฏิบัติงาน
    • การฝึกอบรม ประชุม สัมมนา ทำให้ผู้ปฏิบัติงานในข่ายงายฯ ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนางานที่รับผิดชอบ
    • การปรึกษา แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างกัน จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานของสถาบันบริการสารสนเทศแต่ละแห่ง
    • ความใกล้ชิด สนิทสนม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันระหว่างผู้ปฏิบัติงาน ส่งผลให้เกิดการบริการที่ดี และรวดเร็วยิ่งขึ้น
    • การมีมาตรฐานในการปฏิบัติงานร่วมกัน จะทำให้สามารถลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานด้านการลงรายการได้

สืบค้นข้อมูล